โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์คืออะไร เกิดจากอะไร
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Infections: STIs/ Sexually Transmitted Diseases: STDs) คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส, เชื้อแบคทีเรีย, หรือปรสิต โดยแพร่กระจายหรือติดเชื้อจากคนสู่คนผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด, ทางทวารหนัก (anal sex), หรือทางปาก (oral sex) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะแสดงอาการและส่งผลกระทบบริเวณอวัยวะเพศ, ผิวหนัง, ช่องปาก, และอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้รับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องอาจนำทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงตามมา เช่น ภาวะมีบุตรยาก, หรือการติดเชื้อที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เป็นต้น
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เกิดจากการติดเชื้อ
โรคติดต่อต่อทางเพศสัมพันธ์นั้นส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ ทว่าโรคติดต่อทางเพศแต่ละประเภทเกิดขึ้นจากชนิดของเชื้อโรคที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้
เชื้อไวรัส
- เอชไอวี (HIV): เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันและนำไปสู่โรคเอดส์
- เริม (Herpes Simplex Virus: HSV): ทำให้เกิดแผลพุพองบริเวณอวัยวะเพศหรือปาก
- ไวรัสตับอักเสบบีและซี (Hepatitis B): ทำให้เกิดการอักเสบของตับและแพร่เชื้อผ่านทางเลือดหรือของเหลวในร่างกาย
- ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C): ทำให้เกิดการอักเสบของตับและแพร่เชื้อผ่านทางเลือดหรือของเหลวในร่างกาย
- เชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV): ทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ และบางสายพันธุ์อาจนำไปสู่มะเร็งปากมดลูก
เชื้อแบคทีเรีย
- หนองในแท้ (Gonorrhea): ทำให้เกิดการอักเสบของท่อปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์
- หนองในเทียม (Chlamydia): ติดเชื้อที่อวัยวะเพศและสามารถลุกลามไปยังระบบสืบพันธุ์
- ซิฟิลิส (Syphilis): เป็นโรคที่ติดจากแบคทีเรีย Treponema pallidum ทำให้เกิดแผลและอาจลุกลามไปยังระบบประสาทหากไม่ได้รับการรักษา
เชื้อปรสิต
- พยาธิช่องคลอด (Trichomoniasis): ติดเชื้อจากปรสิตชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบของช่องคลอดในผู้หญิง และอาการระคายเคืองในผู้ชาย
เราจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็ต่อเมื่อเชื้อโรคที่กล่าวถึงข้างต้นเข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านการสัมผัสกับของเหลวในร่างกาย เช่น น้ำอสุจิ, ของเหลวในช่องคลอด, หรือเลือด จากการมีเพศสัมพันธ์หรือใช้สารเสพติดรูปแบบการฉีด นอกจากนี้โรคบางชนิดสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสกับแผลหรือผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อ เช่น โรคเริม, การติดเชื้อ HPV, โรคซิฟิลิส เป็นต้น [1]
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีโรคอะไรบ้าง
ปัจจุบันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังคงพบได้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สำคัญและพบได้บ่อยในประเทศไทย [2] ได้แก่
เกิดจากเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus; HIV) ที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย จำพวก T-helper cell หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง ทำให้พัฒนาเข้าสู่โรคเอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndromes; AIDS) หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ยังไม่มียาเพื่อรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าหากเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องและทานยาต้านไวรัส HIV อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ที่ได้รับเชื้อในระยะแรก ก็สามารถควบคุมระบบภูมิคุ้มกันให้อยู่ในระดับปกติ ทำให้ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนคนทั่วไป
เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากแบคทีเรีย ไนซีเรีย โกโนเรียอี (Neisseria gonorrhea) พบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โดยเชื้อแบคทีเรียนี้จะอาศัยอยู่ในน้ำอสุจิและของเหลวในช่องคลอด จึงทำให้โรคหนองในแท้แพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งรูปแบบการสอดใส่และการออรัลเซ็กส์ (Oral sex) โดยบริเวณที่ติดเชื้อหนองในแท้ได้แก่ อวัยวะเพศ, ทวารหนักและช่องคลอด ซึ่งมีอาการแตกต่างกันไป อาการหนองในของผู้ชายจะมีหนองไหลจากอวัยวะเพศ ปัสสาวะแสบขัด ส่วนอาการหนองในผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีตกขาวเหลืองเขียวหรือมูกหนอง
เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ คลามัยเดีย ทราโคมาทิส (Chlamydia trachomatis) เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีเชื้อหนองในเทียมชนิดอื่นที่สามารถพบได้ เช่น มัยโคพลาสมา (Mycoplasma genitalium, Mycoplasma hominis), ยูเรียพลาสมา (Ureaplasma urealytica, Ureaplasma parvum) และ เชื้อพยาธิในช่องคลอด (Trichomonas vaginalis) เป็นต้น เชื้อแบคทีเรียนี้พบได้ในน้ำอสุจิและของเหลวในช่องคลอด โรคหนองในเทียมติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และยังสามารถทำให้ผู้หญิงที่ติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น การมีบุตรยาก การตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือเป็นหมัน เป็นต้น อาการทั่วไปคล้ายโรคหนองในแท้
เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema pallidum) โดยพบเชื้อได้ในเลือด, สารคัดหลั่ง, รวมไปถึงน้ำลาย ติดต่อผ่านการสัมผัสกับแผลซิฟิลิสโดยตรง ซึ่งมักเกิดบริเวณอวัยวะเพศ, ทวารหนักและปาก ทำให้ผู้ที่เป็นโรคซิฟิลิสส่วนใหญ่มักติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ อาการของโรคซิฟิลิสแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยในระหว่างนี้ผู้ป่วยอาจมีหรือไม่มีอาการก็ได้ ปัจจุบันรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ หากผู้ป่วยปล่อยทิ้งไว้และไม่เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็สามารถทำให้เกิดปัญหารุนแรงด้านสุขภาพตามมาได้ อีกทั้งแม่ที่เป็นโรคซิฟิลิสสามารถแพร่เชื้อสู่ลูกในครรภ์ได้ด้วย
โรคเริมเป็นผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex virus: HSV) ผ่านการสัมผัสโดยตรงบริเวณผิวหนังที่เกิดรอยแผล ซึ่งสามารถเกิดได้ในหลายตำแหน่งของร่างกาย เช่น ปาก, อวัยวะเพศหรือทวารหนัก เป็นต้น ทำให้การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันสามารถก่อให้เกิดติดเชื้อได้ ดังนั้นโรคเริมจึงถือว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง โดยอาการที่พบมีอาการคัน, เจ็บบริเวณแผลเริม, มีไข้ และเป็นตุ่มพุพองบริเวณอวัยวะเพศหรือปาก เป็นต้น
เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A Virus; HAV) ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน แม้ส่วนส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ แต่ก็พบการระบาดของโรคในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) หรือชายหญิงที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักด้วย
เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Virus; HBV) ซึ่งก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง สามารถพบการติดเชื้อได้ในทุกเพศและทุกวัย ติดต่อทางเลือด, อสุจิ และสารคัดหลั่งในร่างกาย อาการทั่วไปของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีระยะเฉียบพลันจะมีอาการไข้สูง, ตัวเหลืองตาเหลือง ร่วมกับมีค่าการทำงานตับที่สูงมากกว่าปกติ และหลังจากที่ติดเชื้อในระยะเฉียบพลันแล้ว ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจะสามารถดำเนินโรคไปสู่ระยะเรื้อรังได้
เอชพีวี (Human Papilloma Virus: HPV) คือเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย พบได้ในผู้ชายและผู้หญิง ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เชื้อ HPV มีมากกว่า 50 สายพันธุ์ โดยบางสายพันธุ์สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งปากทวารหนัก แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
ใครเสี่ยงที่จะติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกันหรือใช้ถุงยางอนามัยผิดวิธี
- ผู้ที่มีคู่นอนหลายคนหรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ผู้ที่อายุยังน้อยขาดความรู้ ความเข้าใจเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ผู้ที่ใช้สารเสพติด
ทำไมควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ
เนื่องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นโรคที่มีหลายระยะ ทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติในระยะแรก จึงคิดว่าตนเองนั้นสุขภาพดี ปราศจากเชื้อในร่างกาย แต่ที่จริงแล้วถึงไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสุขภาพ เพื่อเป็นการป้องกันตนเองและผู้อื่นจากการติดเชื้อ
การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มักตรวจด้วย 2 วิธี
- การตรวจเลือด สามารถตรวจคัดกรองหาเชื้อเอชไอวี, โรคไวรัสตับอักเสบ, โรคซิฟิลิส เป็นต้น
- การตรวจด้วยสารคัดหลั่ง (PCR) สามารถตรวจคัดกรองหาเชื้อหนองในแท้, หนองในเทียม, เชื้อ HPV, พยาธิในช่องคลอด เป็นต้น
การรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
วิธีการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ กลุ่มเชื้อแบคทีเรีย เช่น ซิฟิลิส, หนองในแท้, หนองในเทียม เป็นต้น จะใช้กลุ่มยาปฏิชีวนะในการรักษา ผู้ป่วยต้องทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา ซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็กลับมาเป็นซ้ำได้หากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน
สำหรับกลุ่มเชื้อไวรัส เช่น เริม, เอชไอวี, และไวรัสตับอักเสบบี แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การทานยาต้านไวรัสในการดูแลของแพทย์ ก็สามารถควบคุมอาการ ชะลอการลุกลามของโรค และลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้
บางโรคอาจต้องรักษาเฉพาะทาง เช่น หูดหงอนไก่ อาจรักษาด้วยการจี้หรือผ่าตัดหูด เป็นต้น
การป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และทุก 3 เดือน สำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์บ่อย
- ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs/STDs) คือ โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย, เชื้อไวรัส ,หรือปรสิต ที่ติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทั้งสอดใส่และออรัลเซ็กส์ การสัมผัสแผลรอยโรค หากตรวจพบว่าติดเชื้อควรรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว และเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อสู่คนรอบข้าง แม้ว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรครักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นได้เช่นกัน ดังนั้นควรป้องกันตัวเองด้วยการฉีดวัคซีน และสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ
อ้างอิง
[1] https://medlineplus.gov/sexuallytransmittedinfections.html
[2] https://www.pidst.or.th/A732.html