โรคหนองในแท้และหนองในเทียมคืออะไรต่างกันอย่างไร
โรคหนองใน เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ยังคงมีแนวโน้มของผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน โรคหนองในจึงเป็นโรคที่ควรพึงระวัง โดยโรคหนองในแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามชนิดของแบคทีเรีย ได้แก่ หนองในแท้ (Neisseria gonorrhea) และ หนองในเทียม (Chlamydia trachomatis) โดยบทความนี้คุณหมอจาก PSK Clinic คลินิกรักษาโรคหนองในและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จะมาอธิบายว่าหนองในแท้และหนองในเทียม แตกต่างกันอย่างไร ทั้งการตรวจวินิจฉัย และแนวทางการรักษาเบื้องต้น
โรคหนองในแท้
โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted diseases, STDs) ที่เกิดจากแบคทีเรียชื่อว่า ไนซีเรีย โกโนเรียอี (Neisseria gonorrhea) สามารถพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิงที่ยังมีเพศสัมพันธ์อยู่เป็นประจำ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียนี้จะอาศัยอยู่ในน้ำอสุจิและของเหลวในช่องคลอดของผู้หญิง ทำให้โรคหนองในแท้แพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นแบบการสอดใส่และการออรัลเซกส์ (Oral sex) บริเวณที่ติดเชื้อหนองในแท้นั้น ได้แก่ อวัยวะเพศชาย อวัยวะเพศหญิง ทวารหนัก และในช่องคลอด
โรคหนองในแท้สามารถติดต่อได้จากทางไหนบ้าง?
โรคหนองในแท้ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกันกับผู้ที่ติดเชื้อหนองในแท้ โดยสามารถติดต่อผ่านบริเวณช่องคลอด ทวารหนัก และปาก นอกจากนี้มารดาที่ติดเชื้อหนองในแท้ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ สามารถแพร่เชื้อหนองในแท้สู่ลูกในระหว่างที่มารดาคลอดได้อีกด้วย
อาการของโรคหนองในแท้?
เชื้อหนองในแท้จะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 3-5 วันหลังจากได้รับเชื้อ และผู้ชายมักจะแสดงอาการมากกว่าผู้หญิง โดยพบว่าผู้หญิงที่ติดเชื้อหนองในแท้จะไม่มีอาการประมาณ 80% แต่ในผู้ชายที่ไม่มีอาการพบเพียงประมาณ 10-15%
อาการของโรคหนองในแท้ในผู้หญิง
- มีอาการปัสสาวะแสบขัด
- มีอาการตกขาวเหลืองเขียว หรือมูกหนอง
- อาจมีอาการเลือดออกขณะที่มีเพศสัมพันธ์
อาการของโรคหนองในแท้ในผู้ชาย
- มีอาการปัสสาวะแสบขัด
- มีน้ำหนองไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ
- และอาจจะมีอาการปวดบวมบริเวณท่อสร้างอสุจิ
ภาวะแทรกซ้อน ที่สามารถเกิดได้หากไม่ได้รับการรักษาโรคหนองในแท้อย่างถูกต้อง สำหรับผู้ชายหากปล่อยให้ติดเชื้อหนองในไว้อาจลุกลามสู่อัณฑะ และทำให้มีโอกาสเป็นหมันได้ สำหรับผู้หญิงหากปล่อยให้ติดเชื้อหนองในไว้ อาจลุกลามสู่มดลูก และทำให้มีโอกาสเกิดภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
นอกจากนี้ในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก อาจปรากฏอาการบริเวณทวารหนักได้ เช่น มีหนองเหลืองปนกับอุจจาระ คันในรูทวาร มีอาการปวดเวลาถ่ายอุจจาระ มีเลือดออกจากทวารหนัก หากมีอาการดังกล่าว แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจและรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม
อาการโรคหนองในแท้ในผู้หญิง | อาการโรคหนองในแท้ในผู้ชาย |
---|---|
มีอาการปัสสาวะแสบขัด | มีอาการปัสสาวะแสบขัด |
มีอาการตกขาวเหลืองเขียว หรือมูกหนอง | มีหนองในไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ |
อาจมีลือดออกขณะที่มีเพศสัมพันธ์ | อาจมีอาการปวดบวมบริเวณท่อสร้างอสุจิ |
วิธีการตรวจหนองในแท้?
การตรวจการติดเชื้อหนองในแท้ สามารถทำได้โดยการป้ายหนองจากท่อปัสสาวะในผู้ป่วยที่เป็นผู้ชาย ป้ายหนองหรือสารคัดหลั่งจากช่องคลอดในผู้ป่วยที่เป็นผู้หญิง หรือป้ายหนองจากทวารหนัก จากนั้นนำมาย้อมเชื้อเพื่อวินิจฉัยดูว่ามีการติดเชื้อหนองในแท้หรือไม่ ซึ่งวิธีการนี้สามารถใช้ได้ในกรณีที่มีอาการและมีหนองเท่านั้น ส่วนกรณีที่มีอาการแต่ไม่มีหนอง การย้อมเชื้อนั้นผลการตรวจอาจจะมีความแม่นยำน้อยลงได้
ปัจจุบันมีวิธีการตรวจหนองในแท้ที่แม่นยำขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 วิธี ได้แก่วิธีการตรวจแบบ Rapid test ตรวจในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการและมีหนอง โดยผลการตรวจมีความแม่นยำสูงกว่าการย้อมเชื้อหนองในแท้ และวิธีการตรวจแบบ PCR test ตรวจในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแต่ไม่มีหนอง หรือประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอาการ แต่ต้องการตรวจคัดกรองหนองในแท้ ซึ่งวิธีนี้มีความแม่นยำมากกว่า 99.9%
โรคหนองในแท้รักษาอย่างไร?
วิธีการรักษาโรคหนองในแท้ทำโดยการให้ยาปฏิชีวนะในการรักษาหนองใน โดยมีทั้งการฉีดยารักษาหนองในที่ชื่อว่า Ceftriaxone หรือ ยากิน Cefixime ซึ่งใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถฉีดยาได้
กรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาในกลุ่ม Cephalosporin อาจจะใช้เป็นยาฉีด Gentamycin แทน ส่วนยาในกลุ่ม Quinolone เช่น Norfloxacin หรือ Ciprofloxacin จะไม่แนะนำให้ใช้ในการรักษาโรคหนองในแท้ เนื่องจากพบการรายงานการดื้อยาของเชื้อหนองในแท้ต่อยากลุ่มนี้มากกว่า 50%
โรคหนองในแท้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้หรือไม่?
โรคหนองในแท้เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้เช่นกัน กรณีที่ผู้ติดเชื้อหนองในแท้ที่มีคู่รักและยังคงมีเพศสัมพันธ์กันเป็นประจำ แพทย์จะแนะนำให้รักษาคู่รักของผู้ติดเชื้อหนองในแท้ด้วย เนื่องจากหากรักษาเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อหนองในแท้เพียงคนเดียว อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อหนองในแท้ซ้ำจากคู่รักที่ไม่ได้รับการรักษาได้ เพราะคู่รักอาจได้รับเชื้อหนองในแท้แล้วแต่ไม่แสดงอาการ
โรคหนองในเทียม
โรคหนองในเทียม (Non – Specific Urethritis) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ คลามัยเดีย ทราโคมาทิส (Chlamydia trachomatis) แต่ก็ยังมีเชื้อหนองในเทียมชนิดอื่นๆ ที่สามารถพบได้ เช่น มัยโคพลาสมา (Mycoplasma genitalium, Mycoplasma hominis), ยูเรียพลาสมา (Ureaplasma urealytica, Ureaplasma parvum) และ เชื้อพยาธิในช่อคลอด (Trichomonas vaginalis) เป็นต้น ซึ่งพบได้ในน้ำอสุจิของ และสารคัดหลั่งในช่องคลอด การติดเชื้อหนองในเทียมจึงติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และยังสามารถทำให้ผู้หญิงที่ติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น การมีบุตรยาก การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือเป็นหมัน เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
โรคหนองในเทียมสามารถติดต่อได้จากทางไหนบ้าง?
โรคหนองในเทียมแพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อหนองในเทียมแบบไม่ป้องกัน ถึงแม้จะไม่ได้มีการหลั่งอสุจิก็ตาม อีกทั้งยังสามารถติดต่อผ่านการทำออรัลเซกส์ (Oral sex) ได้ด้วย
บริเวณที่สามารถเกิดการติดต่อเชื้อหนองในเทียมได้แก่ อวัยวะเพศชาย อวัยวะเพศหญิง ช่องคลอด ทวารหนัก ปาก และภายในลำคอ นอกจากนี้ยังพบว่าในมารดาที่มีการติดเชื้อหนองในเทียมระหว่างตั้งครรภ์ และไม่ได้รับการรักษาหนองในเทียมอย่างถูกวิธีสามารถแพร่เชื้อหนองในเทียมสู่ลูกในขณะที่ทำคลอดได้อีกด้วย
อาการของโรคหนองในเทียม
โรคหนองในเทียมมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 1-4 สัปดาห์ และส่วนใหญ่ของผู้ที่ติดเชื้อหนองในเทียมมักจะไม่แสดงอาการ โดย 50% ของผู้ชาย และมากกว่า 75% ของผู้หญิงที่ติดเชื้อหนองในเทียมจะไม่แสดงอาการ
อาการของโรคหนองในเทียมในผู้หญิง
- มีอาการปัสสาวะแสบขัด
- มีอาการตกขาว มีมูกใสผสมหนอง ไม่ข้น
- อาจมีอาการเลือดออกขณะที่มีเพศสัมพันธ์
อาการของโรคหนองในเทียมในผู้ชาย
- มีอาการปัสสาวะแสบขัด
- มีหนองในไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ
- อาจจะมีอาการปวดบวมบริเวณท่อสร้างอสุจิ
ภาวะแทรกซ้อน ที่สามารถเกิดได้หากไม่ได้รับการรักษาโรคหนองในเทียมอย่างถูกต้อง สำหรับผู้ชายหากปล่อยให้ติดเชื้อหนองในเทียมไว้ อาจลุกลามสู่อัณฑะและทำให้มีโอกาสเป็นหมันได้ สำหรับผู้หญิงหากปล่อยให้ติดเชื้อหนองในเทียมไว้ อาจลุกลามสู่มดลูกและทำให้มีโอกาสเกิดภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
นอกจากนี้ในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก อาจจะมีอาการของหนองในเทียมบริเวณทวารหนัก ได้แก่ มีหนองเหลืองปนกับอุจจาระ มีอาการคันในรูทวารหนัก มีอาการปวดเวลาถ่ายอุจจาระ มีเลือดออกจากทวารหนัก หากมีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจโรคหนองในเทียมและรับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม
อาการโรคหนองในเทียมในผู้หญิง | อาการโรคหนองในเทียมในผู้ชาย |
---|---|
มีอาการปัสสาวะแสบขัด | มีอาการปัสสาวะแสบขัด |
มีอาการตกขาว มีมูกใสผสมหนอง ไม่ข้น | มีหนองในไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ |
อาจมีเลือดออกขณะที่มีเพศสัมพันธ์ | อาจมีอาการปวดบวมบริเวณท่อสร้างอสุจิ |
วิธีการตรวจหนองในเทียม?
การตรวจวินิจฉัยโรคหนองในเทียม สามารถทำได้โดยการตรวจแบบ Rapid test ซึ่งสามารถตรวจได้ในกรณีของผู้ป่วยที่มีอาการและมีหนอง หรือมีอาการแต่ไม่มีหนองก็ได้ โดยผลการตรวจมีความแม่นยำสูงมากกว่า 95%
นอกจากนี้ยังมีวิธีการตรวจแบบ PCR test ที่สามารถตรวจได้อย่างครอบคลุม ทั้งในผู้ป่วยมีอาการ ไม่มีอาการ มีหนองและไม่มีหนอง หรือประชาชนทั่วไปที่ต้องการตรวจคัดกรองหนองในเทียมเพื่อความสบายใจ ซึ่งวิธีนี้มีความแม่นยำมากกว่า 99.9%
โรคหนองในเทียมรักษาอย่างไร?
การรักษาโรคหนองในเทียมในปัจจุบันแพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะ เพื่อกำจัดเชื้อหนองในเทียม โดยยารักษาโรคหนองในเทียมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ ยา Doxycycline สามารถทานได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เนื่องจากในปัจจุบันทาง CDC พบว่ามีรายงานการดื้อยาของเชื้อหนองในเทียมชนิดกินเพิ่มมากขึ้น โดยยาดังกล่าวคือยา Azithromycin มีผลทำให้การรักษาด้วยยาชนิดนี้มีอัตราการหายน้อยกว่าการใช้ยา Doxycycline
โรคหนองในแท้และโรคหนองในเทียมแตกต่างกันอย่างไร
ทั้ง 2 โรค เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเหมือนกัน และแสดงอาการที่คล้ายคลึงกัน อีกทั้งยังติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ โดยสรุปความแตกต่างของโรคหนองในแท้และโรคหนองในเทียมสั้น ๆ ดังนี้
โรคหนองในแท้ | โรคหนองในเทียม |
---|---|
เชื้อแบคทีเรีย ไนซีเรีย โกโนเรียอี | เชื้อแบคทีเรีย คลามัยเดีย ทราโคมาทิส |
ระยะฟักตัว 3-5 วัน | ระยะฟักตัว 7-30 วัน |
หนองมีลักษณะข้นขุ่น | หนองมีลักษณะใสกว่า มีอาการไม่รุนแรงเท่าหนองในแท้ |
ภาวะแทรกซ้อน เช่น เป็นหมัน ท้องนอกมดลูก เป็นต้น | ภาวะแทรกซ้อน เช่น เป็นหมัน ท้องนอกมดลูก อุ้มเชิงกรานอักเสบ เป็นต้น |
รักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ และติดตามอาการกับแพทย์อย่างต่อเนื่อง | รักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ และติดตามอาการกับแพทย์อย่างต่อเนื่อง |
การป้องกันโรคหนองใน
โดยวิธีการป้องกันโรคหนองในแท้และโรคหนองในเทียม แนะนำให้ปฏิบัติตามดังนี้
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ไม่ควรใช้อุปกรณ์เสริมความสุขทางเพศ (sex toy) ร่วมกับผู้อื่น
- ไม่แนะนำให้เปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้
- ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำทุก 3-6 เดือน หรือปีละ 1 ครั้ง
- หากมีอาการคล้ายจะเป็นโรคหนองใน ให้งดมีเพศสัมพันธ์และรีบพบแพทย์
ระยะเวลาในการรักษาโรคหนองใน
สำหรับระยะการรักษาโรคหนองในนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อหนองในที่ตรวจพบ
- การรักษาหนองในแท้ แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะ Ceftriaxone ขนาด 500 mg ฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่บริเวณสะโพก 1 ครั้ง หรือยาปฏิชีวนะ Cefixime ขนาด 800 mg กินครั้งเดียว
- การรักษาหนองในเทียม แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะตามเชื้อที่ตรวจพบ
2.1 เชื้อ คลามัยเดีย ทราโคมาทิส (Chlamydia trachomatis) แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะ Azithromycin 1 gm กินครั้งเดียว หรือยาปฏิชีวนะ Doxycycline 100 mg กินครั้งละ 1 เม็ดวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน
2.2 เชื้อ มัยโคพลาสมา (Mycoplasma genitalium, Mycoplasma hominis) แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะ Moxifloxacin 100 mg กินครั้งละ 1 เม็ดวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน
2.3 เชื้อ ยูเรียพลาสมา (Ureaplasma urealytica, Ureaplasma parvum) แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะ Azithromycin 1 gm กินครั้งเดียว หรือยาปฏิชีวนะ Doxycycline 100 mg กินครั้งละ 1 เม็ดวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน
2.4 เชื้อพยาธิในช่องคลอด (Trichomonas vaginalis) แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะ Metronidazole 400 mg กินครั้งละ 1 เม็ดวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน
การดูแลตัวระหว่างการรักษาโรคหนองใน
หลังจากที่พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคหนองในและรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยควรงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 7 วัน ส่วนในกรณีที่รักษาด้วยการทานยา ควรทานยาให้ตรงต่อเวลาและสม่ำเสมอ หากยังคงมีอาการอยู่หรือาการไม่ดีขึ้นหลังจากได้รับการรักษา ให้รีบกลับมาพบแพทย์เนื่องจากอาจเกิดอาการดื้อยา เมื่อผู้ป่วยหายเป็นปกติแนะนำให้กลับมาตรวจคัดกรองโรคหนองในซ้ำอีกครั้งหลังจากผ่านไป 3 เดือน
ความสัมพันธ์ของโรคหนองในกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น
การติดเชื้อหนองในแท้และหนองในเทียมนั้นสามารถทำให้ผู้ที่ติดเชื้อหนองในมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการติดต่อของโรคหนองใน
โรคหนองในเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นการติดเชื้อหนองในจึงไม่สามารถติดจากการใช้ของร่วมกันหรือการใช้ห้องน้ำร่วมกันได้
คำถามที่พบบ่อย Frequent Ask Question (FAQs)
1. ป้องกันโรคหนองในต้องทำอย่างไร?
- สวมถุงยางอนามัย
ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เมื่อมีอาการคล้ายเป็นโรคหนองใน
หากคุณหรือคู่รักมีอาการตกขาวผิดปกติ หรือมีของเหลวไหลออกมาทางอวัยวะเพศ รู้สึกแสบขัดเมื่อปัสสาวะ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์และเข้ารับการตรวจโดยแพทย์
- ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
หากมีประวัติเสี่ยง ควรพิจารณาตรวจคัดกรองโรคหนองในและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ แม้ไม่มีอาการใด ๆ เพื่อความปลอดภัย
- ดูแลความสะอาดจุดซ่อนเร้น
ล้างอวัยวะจุดซ่อนเร้นจากด้านหน้าไปด้านหลังทุกครั้งหลังขับถ่าย แล้วซับให้แห้งด้วยผ้าหรือทิชชูที่สะอาด
2.รู้ได้อย่างไรว่าติดหนองใน?
ถ้าคุณหรือคู่รักมีอาการตามข้อมูลในหัวข้อ ‘อาการของโรคหนองใน’ หรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดใด คุณควรพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม
- ซักประวัติและตรวจร่างกาย
แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อตรวจหาอาการที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคหนองในหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- ตรวจเพาะเชื้อ
ตัวอย่างของสิ่งส่งตรวจจะถูกส่งไปตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์และส่งเพาะเชื้อเพื่อการวินิจฉัยเชื้อชนิดของโรค
- การตรวจเชื้อและการตรวจโรคติดต่ออื่น ๆ
หากพบว่ามีการติดเชื้อหนองใน คุณควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และซิฟิลิส
- การเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ
คุณควรทำการตรวจทุกตำแหน่งที่มีการสัมผัสทางเพศ ซึ่งอาจรวมถึงการตรวจหาเชื้อในคอหากคุณเคยมีเพศสัมพันธ์โดยการใช้ปาก และการตรวจทางทวารหนักหากคุณเคยมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
3.อาการของโรคหนองในจะหายไปเมื่อใด?
การรักษาโรคหนองในโดยใช้ยาปฏิชีวนะ (antibiotics) จะช่วยให้อาการดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังการรักษา โดยอาการต่าง ๆ อาจหายไป เช่น อาการตกขาวผิดปกติและการปัสสาวะที่แสบขัด สำหรับการมีเลือดออกในช่วงระหว่างรอบเดือน อาจดีขึ้นในรอบเดือนถัดไป แต่หากปัญหายังคงอยู่หรือมีอาการเป็นที่น่าเป็นห่วง เช่น มีเลือดออกมาก หรือมีอาการปวดท้องรุนแรง ควรรีบพบแพทย์เพื่อการประเมินเพิ่มเติม
สำหรับผู้ชายที่มีอาการปวดอัณฑะหรือปวดบริเวณท้องน้อย การหายขาดของอาการอาจใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ในบางกรณี แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผิดปกติเพิ่มเติม ควรพบแพทย์เพื่อประเมินเพิ่มเติม นอกจากนี้หากพบว่ามีภาวะดื้อยาหรือโรคลุกลามมากขึ้น ควรเข้ารับการตรวจอีกครั้งจากแพทย์ เพื่อหาแนวทางการรักษา ที่เหมาะสมต่อไป
คำถามที่พบบ่อย Frequent Ask Question (FAQs)
ป้องกันโรคหนองในต้องทำอย่างไร?
- สวมถุงยางอนามัย
ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เมื่อมีอาการคล้ายเป็นโรคหนองใน
หากคุณหรือคู่รักมีอาการตกขาวผิดปกติ หรือมีของเหลวไหลออกมาทางอวัยวะเพศ รู้สึกแสบขัดเมื่อปัสสาวะ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์และเข้ารับการตรวจโดยแพทย์
- ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
หากมีประวัติเสี่ยง ควรพิจารณาตรวจคัดกรองโรคหนองในและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ แม้ไม่มีอาการใด ๆ เพื่อความปลอดภัย
- ดูแลความสะอาดจุดซ่อนเร้น
ล้างอวัยวะจุดซ่อนเร้นจากด้านหน้าไปด้านหลังทุกครั้งหลังขับถ่าย แล้วซับให้แห้งด้วยผ้าหรือทิชชูที่สะอาด
รู้ได้อย่างไรว่าติดหนองใน?
ถ้าคุณหรือคู่รักมีอาการตามข้อมูลในหัวข้อ ‘อาการของโรคหนองใน’ หรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดใด คุณควรพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม
- ซักประวัติและตรวจร่างกาย
แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อตรวจหาอาการที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคหนองในหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- ตรวจเพาะเชื้อ
ตัวอย่างของสิ่งส่งตรวจจะถูกส่งไปตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์และส่งเพาะเชื้อเพื่อการวินิจฉัยเชื้อชนิดของโรค
- การตรวจเชื้อและการตรวจโรคติดต่ออื่น ๆ
หากพบว่ามีการติดเชื้อหนองใน คุณควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และซิฟิลิส
- การเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ
คุณควรทำการตรวจทุกตำแหน่งที่มีการสัมผัสทางเพศ ซึ่งอาจรวมถึงการตรวจหาเชื้อในคอหากคุณเคยมีเพศสัมพันธ์โดยการใช้ปาก และการตรวจทางทวารหนักหากคุณเคยมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
อาการของโรคหนองในจะหายไปเมื่อใด?
การรักษาโรคหนองในโดยใช้ยาปฏิชีวนะ (antibiotics) จะช่วยให้อาการดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังการรักษา โดยอาการต่าง ๆ อาจหายไป เช่น อาการตกขาวผิดปกติและการปัสสาวะที่แสบขัด สำหรับการมีเลือดออกในช่วงระหว่างรอบเดือน อาจดีขึ้นในรอบเดือนถัดไป แต่หากปัญหายังคงอยู่หรือมีอาการเป็นที่น่าเป็นห่วง เช่น มีเลือดออกมาก หรือมีอาการปวดท้องรุนแรง ควรรีบพบแพทย์เพื่อการประเมินเพิ่มเติม
สำหรับผู้ชายที่มีอาการปวดอัณฑะหรือปวดบริเวณท้องน้อย การหายขาดของอาการอาจใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ในบางกรณี แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผิดปกติเพิ่มเติม ควรพบแพทย์เพื่อประเมินเพิ่มเติม นอกจากนี้หากพบว่ามีภาวะดื้อยาหรือโรคลุกลามมากขึ้น ควรเข้ารับการตรวจอีกครั้งจากแพทย์ เพื่อหาแนวทางการรักษา ที่เหมาะสมต่อไป