PSK Clinic คลินิกสุขภาพทางเพศ บริการตรวจรักษาและให้คำปรึกษา

ตรวจ รักษา เชื้อ HIV

ตรวจหาเชื้อเอชไอวี

เลือกอ่านตามหัวข้อ

HIV ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด รู้เร็ว รักษาไว ใช้ชีวิตได้ยาวนาน ก่อนพัฒนากลายเป็นโรคเอดส์

การตรวจหาเชื้อเอชไอวี HIV

เชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus; HIV) เป็นไวรัสที่มุ่งทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย จำพวก T-helper cell หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง จนพัฒนาเข้าสู่โรคเอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndromes; AIDS) หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ยังไม่มียาเพื่อรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าหากเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ตั้งแต่ได้รับเชื้อ HIV ในระยะแรก ๆ (Acute Phase) ก็สามารถควบคุมระบบภูมิคุ้มกันให้อยู่ในระดับปกติ ไม่พัฒนาสู่ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ได้อย่างปกติและใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป  ซึ่งบอกเลยว่า HIV ไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันทีหลังจากติดเชื้อ HIV ในระยะแรก ๆ (Acute Phase) ร่างกายยังสามารถควบคุมระบบภูมิคุ้มกันให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้โรคพัฒนาเป็นภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ยาวนาน ก่อนพัฒนากลายเป็นโรคเอดส์ โดยวันนี้คุณหมอจาก PSK Clinic จะมาอธิบายให้คุณรู้ทันและรับมือ HIV ได้ดังนี้

ทำไมต้องตรวจเอชไอวี?

การตรวจเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) เป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากเชื้อไวรัสนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คน โดยส่วนใหญ่ติดจากการมีเพศสัมพันธ์ อาการที่พบหลังได้รับเชื้อในระยะเริ่มต้นจะคล้ายกับไข้หวัด เช่น เป็นไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย เป็นต้น จึงทำให้เกิดความสับสนคิดว่าแค่ไม่สบายธรรมดา ทำให้ไม่ไปหาหมอและเลือกหายามากินเอง หรือบางรายอาจจะปล่อยไว้จนถึงขั้นระบบภูมิคุ้มกันร่างกายถูกทำลายไปมากแล้ว จำนวน CD4 เหลือน้อยกว่า 200เซลล์/ ลบ. มม. ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเข้าสู่การเป็นโรคเอดส์

ดังนั้น การตรวจ HIV จึงมีความสำคัญสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัยหรือประกอบอาชีพในการให้บริการทางเพศ การตรวจหาเชื้อเอชไอวีสามารถทำได้ทั้งทางห้องปฏิบัติการหรือใช้ชุดตรวจ HIV ด้วยตนเอง (HIV Self Test)

เมื่อทราบถึงสถานะการติดเชื้อก็ทำให้เข้าสู่กระบวนการการรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว ควบคุมเชื้อไม่ให้ทำลายระบบภูมิคุ้มกันมากจนพัฒนาสู่โรคเอดส์ และป้องกันไม่ให้ส่งเชื้อต่อสู่ผู้อื่นจะดีที่สุด

การตรวจ HIV คืออะไร?

การตรวจเอชไอวี คือ การตรวจเช็คสถานะการติดเชื้อ โดยเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งเพื่อนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งส่วนมากจะเป็นการตรวจเลือด ส่วนการใช้สารคัดหลั่งในช่องปากก็สามารถทำได้เช่นกัน ปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่สามารถตรวจ HIV ให้เลือกมากมาย ตามแต่ความสะดวกของคนไข้ และใช้เวลารอผลไม่นาน อีกทั้งยังมีชุดตรวจ HIV ด้วยตนเอง เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ที่ไม่มีเวลาไปคลินิกหรือผู้ที่ไม่อยากเปิดเผยตัวตน

การป้องกันติดเชื้อ HIV

การตรวจ HIV มีกี่ประเภท

การตรวจ HIV แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยการตรวจเลือด ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่แนะนำวิธีนี้เนื่องจากสามารถตรวจคัดกรองเชื้อได้หลายวิธี อีกประเภทที่ เริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับคนไม่สะดวกเดินทางไปคลินิกคือ การตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง (HIV self screening test) ซึ่งการตรวจประเภทนี้สามารถตรวจได้ทั้งทางเลือดหรือทางน้ำลาย โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะมี 4 วิธี

การตรวจ Anti-HIV

การตรวจเลือดเพื่อหาแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV) ในเลือด เป็นวิธีที่ได้มาตรฐานสากลและนิยมใช้กันทั่วโลก ปัจจุบันชุดตรวจเอชไอวีมีการพัฒนามาจนถึงรุ่นที่ 4 (4th Generation) สามารถตรวจหาการติดเชื้อหลังจากที่มีความเสี่ยงมาแล้ว 21 วัน

การตรวจ HIV Ag/Ab combination assay

การตรวจโดยใช้ชุดตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวีและแอนติเจนของเชื้อพร้อมกันในน้ำยาเดียวกัน (HIV Ag/Ab combination assay) หรือเรียกอีกอย่างว่าน้ำยาตรวจแบบ 4th Generation เป็นการตรวจ Anti-HIV และ/หรือ HIV p24 antigen ในคราวเดียวกัน วิธีการนี้มีการใช้งานแพร่หลายเพื่อคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี สามารถตรวจพบการติดเชื้อได้เร็วที่สุดประมาณ 14-15 วันหรือ 2 สัปดาห์หลังการติดเชื้อ

การตรวจ NAT

การตรวจ HIV ด้วยวิธีนี้มีความรวดเร็วและแม่นยำ เพราะสามารถตรวจการติดเชื้อได้ตั้งแต่ 3-7 วันหลังจากการติดเชื้อ โดยตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี (Nucleic Acid Test: NAT) ปัจจุบันทางการแพทย์ใช้การตรวจ NAT เพื่อตรวจคัดกรองเลือดของผู้บริจาคโลหิต แต่ยังไม่ได้นำมาใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อเอชไอวีในสถานพยาบาลมากนัก

การตรวจแอนติเจนของเชื้อเอชไอวี (HIV p24 antigen testing)

วิธีนี้เป็นการตรวจสอบโปรตีน p24 ใช้สำหรับการติดเชื้อในระยะแรก เนื่องจากร่างกายยังไม่สร้างแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV) หรืออาจมีระดับแอนติบอดีต่ำจนไม่สามารถตรวจสอบได้ การตรวจวิธีนี้ สามารถตรวจได้หลังจากการติดเชื้อมาประมาณ 2 อาทิตย์ หรือ 14-15 วัน

การตรวจ HIV ด้วยตนเอง

การตรวจ HIV ด้วยตนเอง (HIV self-screening test) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ การตรวจด้วยเลือด โดยทำการเจาะเลือดที่ปลายนิ้วมือ วิธีนี้จะมีความไวและความจำเพาะอยู่ที่ 99.5% และ 99% ตามลำดับ อีกชนิดคือการเก็บตัวอย่างจากน้ำลายในช่องปาก วิธีนี้จะมีความไวและความจำเพาะอยู่ที่ 99% และ 98% ตามลำดับ สิ่งสำคัญสำหรับวิธีนี้คือควรใช้ชุดตรวจที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้น

การรักษาความลับของผู้ตรวจ HIV

การรักษาความลับเป็นหลักสากลข้อหนึ่งของการตรวจเอชไอวีจากทั้งหมด 5 ข้อ โดยการรักษาความลับ (Confidentiality) คือมาตรการป้องกันข้อมูลของคนไข้ไม่ให้ถูกเปิดเผยสู่ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ที่มารับการตรวจ เพราะหากข้อมูลหลุดไปอาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้ที่เข้ารับการตรวจ เช่น หน้าที่การงาน เป็นต้น และยังส่งผลต่อสภาวะทางใจของผู้เข้ารับการตรวจเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการรณรงค์เรื่องสิทธิของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ และให้ความรู้เรื่องโรคติดเชื้อเอชไอวีกับโรคเอดส์ แต่การตีตราต่อผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ยังคงมีอยู่จำนวนมาก ดังนั้นทางคลินิกจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และนำวิธีการลงทะเบียนแบบคลินิกนิรนาม คือ การไม่ระบุชื่อและนามสกุลใช้ภายในคลินิกของเราด้วย

ระยะของการติดเอชไอวี HIV
ยาป้องกันติดเชื้อ hiv pep prep

การป้องกันการติดเชื้อ HIV

นอกจากการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV แล้ว ในปัจจุบันยังมียาที่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้อีกด้วย

ยาที่สำหรับป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี

คำถามที่พบบ่อย Frequent Ask Question (FAQs)

การเตรียมตัวและขั้นตอนการเข้ารับการตรวจ HIV

ปัจจุบันการตรวจ HIV ใช้เวลารวดเร็วและไม่น่ากลัว อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องงดอาหาร งดน้ำ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือ ระยะเวลาหลังจากที่ไปเจอความเสี่ยงมา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระหว่าง 2-4 สัปดาห์ จากนั้นเลือกสถานพยาบาลที่ท่านสะดวกและเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ให้พร้อมในกรณีที่ต้องใช้ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสถานพยาบาล) ก่อนตรวจเลือดคุณจะได้รับการซักประวัติกับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินความเสี่ยง จากนั้นแพทย์จึงส่งตรวจเลือดและรอผลเลือด โดยใช้เวลารอฟังผลประมาณ 30 นาที

  • ระลึกถึงเหตุการณ์ ระยะเวลาหลังจากไปเจอความเสี่ยงมา เพื่อใช้สำหรับการซักประวัติ
  • ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร ก่อนเข้ารับการตรวจ HIV
  • เข้ารับการประเมินความเสี่ยงจากแพทย์
  • ตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ
  • ฟังผลเลือดจากแพทย์

ผลเลือดของการตรวจเอชไอวีใช้เวลารอประมาณ 20-30 นาที ขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจ และขั้นตอนการปฏิบัติงานของแต่ละโรงพยาบาลหรือคลินิก แต่ในปัจจุบันผู้ที่เข้ารับการตรวจสามารถเลือกได้ว่าจะรับผลจากทางไหน อาจเลือกรอฟังผลกับแพทย์ หรือบางท่านอาจเลือกให้ส่งผลทางอีเมลเพื่อประหยัดเวลาก็สามารถทำได้

ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับเชื้อเอชไอวีหลังจากที่เจอความเสี่ยงมา 2-4 สัปดาห์ มักจะมีอาการของการติดเชื้อ HIV แบบเฉียบพลัน (Acute HIV Infection) โดยอาการทั่วไปที่สามารถพบได้จะคล้ายกับการเป็นไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้, หนาวสั่น, อ่อนเพลีย, ปวดเมื่อยเนื้อตัว, เจ็บคอ, มีผื่นแดงขึ้นตามตัว, ต่อมน้ำเหลืองโตกดเจ็บ, เหงื่อออกตอนกลางคืน, หรืออาจจะมีแผลในปากร่วมด้วยได้ เป็นต้น ดังนั้นแนะนำว่าควรตรวจหลังจากที่ไปเจอความเสี่ยง 14-30 วัน

การตรวจ HIV สามารถเข้ารับการตรวจได้ทั้งในโรงพยาบาลรัฐบาล โรงพยาบาลเอกชน คลินิกนิรนามสภากาชาดไทย หรือคลินิกเอกชน อย่างเช่น พีเอสเค คลินิก ที่ให้บริการตรวจ HIV อย่างมีคุณภาพ ใช้เวลาไม่นาน เดินทางสะดวก ได้มาตรฐานคลินิกเวชกรรม และให้ความสำคัญกับข้อมูลผู้ใช้บริการ จึงใช้หลักการลงทะเบียนแบบนิรนาม 

ตรวจ HIV ฟรีปีละ 2 ครั้ง โดยสามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานพยาบาลที่อยู่ภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือสถานบริการตรวจเอชไอวีของภาคประชาสังคม และคลินิกนิรนาม เป็นต้น

  1. ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับการติดเชื้อ HIV
  2. ผู้ที่เคยมีหรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน
  3. ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาเพื่อเสพสารเสพติดร่วมกัน
  4. ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  5. บุคลากรทางการแพทย์ที่อาจเกิดอุบัติเหตุเสี่ยงให้ติดเชื้อ HIV
  6. คู่รักที่วางแผนแต่งงานหรือต้องการมีบุตร
  7. ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  8. บุตรที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อ HIV
  9. ผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรค
  10. ผู้ที่ประกอบอาชีพให้บริการทางเพศ (sex worker)
  11. ผู้ที่มักเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  12. ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) โดยเฉพาะฝ่ายรับที่มีอัตราความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงกว่าฝ่ายรุก

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของแต่ละคน หากคุณยังคงเป็นผู้ที่มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำและมักเจอกับความเสี่ยงอยู่บ่อยครั้ง ก็ควรตรวจเอชไอวีทุกครั้งหลังเจอความเสี่ยง หรือมีความไม่มั่นใจในคนรักของตนเอง ก็ควรตรวจทุก 3-6 เดือน หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง