PSK Clinic คลินิกสุขภาพทางเพศ บริการตรวจรักษาและให้คำปรึกษา

HIV กับ โรคเอดส์ (AIDS) แตกต่างกันอย่างไร

การติดเชื้อเอชไอวี ต่างจาก โรคเอดส์ อย่างไร? เข้าใจให้ถูกต้อง!

ในปัจจุบันผู้คนในสังคมมักจะมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่อง HIV แบบผิดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่อง เอชไอวี และ เอดส์ เป็นเรื่องเดียวกัน หรือเข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกัน นั้นถือว่าเป็นการเข้าใจผิดเป็นอย่างยิ่ง ในบทความนี้เราจะทำการอธิบายความแตกต่างระหว่าง HIV และ AIDS ว่าแตกต่างกันอย่างไรทั้งในเรื่องของความหมาย สาเหตุ อาการ และการรักษา เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

HIV คืออะไร?

เชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus; HIV) คือ ไวรัสที่มุ่งทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย จำพวก T-helper cell หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาเพื่อควบคุมระดับ CD4 ก็จะพัฒนาเข้าสู่ระยะของโรคเอดส์หรือระยะที่ 3 ของการติดเชื้อเอชไอวี เชื้อไวรัสเอชไอวีแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านทางเลือดและสารคัดหลั่ง เช่น น้ำอสุจิ, น้ำหล่อลื่นในช่องคลอด, น้ำนมแม่ โดยติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางป้องกัน, การใช้เข็มฉีดยาที่มีเลือดปนเปื้อนร่วมกัน, การรับบริจาคเลือด หรือการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์ หรือให้นมลูก

โรคเอดส์ คืออะไร?

โรคเอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndromes; AIDS) เป็นระยะของการติดเชื้อเอชไอวีที่มีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อน ระยะนี้มีความอันตรายมากที่สุด เนื่องจากร่างกายมีระดับภูมิคุ้มกันลดลงจนน้อยกว่า 100 cells/mL ทำให้ผู้ที่เป็นโรคเอดส์มีโอกาสติดเชื้อจากโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเชื้อราในปอด, โรคเชื้อราในสมอง, วัณโรคต่อมน้ำเหลือง หรือโรคฝีในสมองได้

หากผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส (ARV – Antiretroviral Drug) ระบบภูมิคุ้มกันจะค่อย ๆ ถูกทำลาย และโดยเฉลี่ยจะใช้เวลา 2-3 ปี ในการพัฒนาจากระยะการติดเชื้อเอชไอวีไปสู่ระยะของโรคเอดส์

ความแตกต่างระหว่าง HIV และ เอดส์

หัวข้อการติดเชื้อเอชไอวีโรคเอดส์
ความหมายเป็นภาวะที่ร่างกายมีการติดเชื้อHIV โดยผู้ที่มีการติดเชื้อเอชไอวีอาจจะมีหรือไม่มีอาการของการติดเชื้อก็ได้เป็นภาวะที่ผู้ติดเชื้อHIV ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่ถูกต้อง ทำให้เกิดการติดเชื้อฉวยโอกาสและเสียชีวิตในที่สุด
สาเหตุ

การติดเชื้อ HIV สามารถติดได้ผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้

  • ติดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  • ติดจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
  • ติดจากการรับเลือดจากคนที่เป็น
  • ติดจากแม่สู่ลูก
ผู้ติดเชื้อHIV ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้อง
อาการ

อาการของผู้ที่ได้รับเชื้อเอชไอวี สามารถแบ่งได้ตามระยะของการติดเชื้อ ดังนี้

  1. การติดเชื้อระยะเฉียบพลัน ผู้ที่ได้รับเชื้อเอชไอวีในระยะนี้จะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามร่างการ มีผื่นแดงขึ้นตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโตกดเจ็บ หรือเจ็บคอได้ โดยจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อมาแล้ว 7-10 วัน
  2. การติดเชื้อระยะแฝง หลังจากผู้ที่ได้รับเชื้อหายจากอาการในระยะเฉียบพลันแล้ว ผู้ที่ติดเชื้อจะเข้าสู่ระยะแฝง ซึ่งมนระยะนี้ผู้ที่ติดเชื้อจะไม่มีอาการใดๆ หรืออาจจะมีอาการของต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกายได้ หากไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส อาการของผู้ที่ติดเชื้อจะพัฒนาเข้าสู่โรคเอดส์
อาการของผู้ที่เป็นโรคเอดส์มีได้หลายแบบ ตั้งแต่ มีไข้เรื้อรัง ถ่ายเหลวเรื้อรัง น้ำหนักลด มีเชื้อราในปาก มีเชื้อราในปอด มีเชื้อราในสมอง มีฝีในสมอง วัณโรคต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
การรักษาปัจจุบันการรักษาหลักของการติดเชื้อเอชไอวีแนะนำให้ใช้เป็นยาต้านไวรัส 2-3 ชนิดในการรักษาร่วมกัน (HAART) โดยการกินยาต้านไวรัสนั้นจะทำให้ปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือดลดลงจนตรวจไม่เจอและสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้เช่นเดิม

การรักษาผู้ที่เป็นโรคเอดส์ ต้องรักษาด้วยความระมัดระวังเนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในขณะที่เริ่มการรักษาได้

  1. รักษาโรคติดเชื้อฉวยโอกาส
  2. รักษาด้วยการกินยาต้านไวรัส

อาการของผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์

ด้วยความที่ HIV และ AIDS นั้นมีความแตกต่างที่ชัดเจน ดังนั้นอาการของผู้ติดเชื้อ HIV และ ผู้ป่วยโรคเอดส์ก็มีความแตกต่างด้วยเช่นกัน ในส่วนนี้ทางเราจะลงรายละเอียดถึงอาการของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและอาการของโรคเอดส์ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

อาการของผู้ติดเชื้อเอชไอวี

ผู้ที่ได้รับเชื้อเอชไอวีหลังจากที่มีความเสี่ยงจะมีอาการของการติดเชื้อ HIV ระยะเฉียบพลัน (Acute Phase) ซึ่งจะมีอาการหลังจากที่ได้รับเชื้อมาประมาณ 2-4 สัปดาห์ [1]

อาการทั่วไปที่สามารถพบได้มีลักษณะคล้ายกับการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้, หนาวสั่น, อ่อนเพลีย, ปวดเมื่อยเนื้อตัว, เจ็บคอ, มีผื่นแดงขึ้นตามตัว, ต่อมน้ำเหลืองโตกดเจ็บ, เหงื่อออกตอนกลางคืน, หรืออาจจะมีแผลในปากร่วมด้วยได้ เป็นต้น

หากมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้หลังจากที่มีความเสี่ยงต่อในการติดเชื้อเอชไอวี ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจหาการติดเชื้อ HIV โดยเร็ว

อาการของโรคเอดส์

อาการของโรคเอดส์ที่สามารถพบได้ เช่น มีไข้เรื้อรัง, ถ่ายเหลวเรื้อรัง, น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น นอกจากนี้ในยังมีโอกาสติดเชื้อโรคฉวยโอกาส เช่น เชื้อราในปอด, เชื้อราในสมอง, วัณโรคต่อมน้ำเหลือง, หรือฝีในสมอง เป็นต้น

วิธีป้องกันการติดเชื้อ HIV

การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ นอกจากช่วยลดความเสี่ยงของการสัมผัสสารคัดหลั่งที่อาจมีเชื้อ HIV แล้ว ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย

  •   หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด เนื่องจากการใช้เข็มร่วมกันเป็นช่องทางที่เชื้อ HIV สามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้โดยตรง
  •   ใช้ยา PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) และ PEP (Post-Exposure Prophylaxis) ที่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV
  • ตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อ HIV เป็นประจำเป็นอีกวิธีที่สำคัญในการป้องกันและรักษาแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากผู้ติดเชื้อในระยะแรกอาจไม่มีอาการ หากตรวจพบเชื้อเร็ว การเข้ารับการรักษาด้วย ยาต้านไวรัส (ARV) ตั้งแต่ระยะแรกจะช่วยควบคุมปริมาณไวรัสในร่างกาย ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ และช่วยให้ผู้ติดเชื้อสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ดังนั้น การตรวจสุขภาพและตรวจหาเชื้อเป็นประจำจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ โดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง

HIV รักษาได้ไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาการติดเชื้อไวรัส HIV ให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมไม่ให้พัฒนาสู่โรคเอดส์ได้ด้วยการกินยาต้านไวรัสเอชไอวี (ARV) ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกาย ไม่ให้เพิ่มจำนวนจนไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ติดเชื้อ (ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี) มีสุขภาพแข็งแรง ใช้ชีวิตได้ตามปกติ มีอายุขัยได้เทียบเท่ากับผู้ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ HIV และ เอดส์

มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ HIV และ เอดส์ ที่พบบ่อยคือ HIV และ เอดส์ เป็นโรคเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงเอชไอวีเป็นเชื้อไวรัส ส่วนโรคเอดส์เป็นระยะของการติดเชื้อไวรัสที่มีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อน อีกความเข้าใจผิดคือ HIV ติดต่อได้จากการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะเชื้อไวรัส HIV ไม่สามารถแพร่ผ่านการจับมือ กอด หรือใช้ของใช้ร่วมกันได้ 

นอกจากนี้ บางคนยังเชื่อว่า ผู้ติดเชื้อ HIV ต้องมีชีวิตไม่ยืนยาว แต่ด้วยการรักษาด้วย ยาต้านไวรัส (ARV) ทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุขัยเทียบเท่าคนทั่วไปได้

สรุป

เอชไอวีเป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง หากไม่ได้รับการรักษาเชื้อจะพัฒนาเข้าสู่โรคเอดส์ (AIDS) และเสียชีวิตได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันรักษาด้วยยาต้านไวรัส (ARV) ซึ่งช่วยลดปริมาณไวรัสในร่างกาย ทำให้ผู้ติดเชื้อมีสุขภาพแข็งแรงและลดโอกาสแพร่เชื้อ นอกจากนี้การใช้ถุงยางอนามัยร่วมกับการใช้ยา PrEP ยังช่วยลดโอกาสติดเชื้อ HIV ได้มากถึง 99% จึงเป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูง อีกทั้งการหลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาปนเปื้อนร่วมกัน และการตรวจเอชไอวีเป็นประจำ ยังเป็นวิธีการป้องกันที่ดีเช่นกัน

อ้างอิง

[1] https://hivinfo.nih.gov/understanding-hiv/fact-sheets/stages-hiv-infection