ยาต้านไวรัส HIV สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ความสำคัญ และประสิทธิภาพในการรักษา
ถึงแม้ว่าการติดเชื้อไวรัส HIV ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การกินยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอสามารถทำให้ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีสามารถมีอายุขัยได้เทียบเท่ากับผู้ที่ผลเลือดปกติ
ยาต้านไวรัส HIV คืออะไร?
ยาต้านไวรัส HIV หรือ ARV (Antiretroviral Drug; ARV) [1] เป็นยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับใช้รักษาผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี) โดยเป็นการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน (Highly Active Antiretroviral Therapy; HAART) กินหรือฉีดเพื่อควบคุมและลดปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกาย (Viral load) ให้เหลือน้อยที่สุดจนถึงระดับที่ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสเอชไอวี (undetectable)
ยาต้านไวรัส HIV แต่ละชนิดที่ใช้ในปัจจุบัน
กลุ่ม NRTIs (Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitors)
ยากลุ่มนี้ทำหน้าที่ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Reverse Transcriptase ที่ไวรัสเอชไอวีใช้เพื่อการเพิ่มจำนวนของเชื้อในเม็ดเลือดขาวชนิด CD4+ ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Tenofovir, Emtricitabine, Lamivudine, Abacavir, Zidovudine เป็นต้น
กลุ่ม NNRTIs (Non-Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitors)
ยากลุ่มนี้ทำหน้าที่ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Reverse Transcriptase ที่ไวรัสเอชไอวีใช้เพื่อการเพิ่มจำนวนของเชื้อในเม็ดเลือดขาวชนิด CD4+ เหมือนกับยาในกลุ่ม NRTIs โดยจับบริเวณเฉพาะที่เรียกว่า non-competitive binding site บนเอนไซม์ Reverse Transcriptase ส่งผลทำให้เชื้อไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Efavirenz, Nevirapine เป็นต้น
กลุ่ม PIs (Protease Inhibitors)
ยากลุ่มนี้ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ไวรัสสร้างอนุภาคใหม่และแพร่กระจายได้อย่างสมบูรณ์ โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Protease ที่จำเป็นสำหรับการประกอบโปรตีนไวรัส (viral proteins) ส่งผลให้ไวรัสที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่มีโครงสร้างที่ผิดปกติและไม่สามารถติดต่อได้ ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Lopinavir, Atazanavir, Darunavir เป็นต้น โดยยาในกลุ่ม PIs นี้จะต้องกินคู่กับยา Ritonavir (PIs Booster) เพื่อทำให้ระดับยาในเลือดสูงคงที่ในช่วงที่กินยา
กลุ่ม INSTIs (Integrase Strand Transfer Inhibitors)
ยากลุ่มนี้ทำหน้าที่ยับยั้งการฝังตัวของไวรัสในเซลล์มนุษย์ โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Integrase ที่เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ใช้เพื่อฝังสารพันธุกรรมของไวรัส (viral DNA) เข้ากับ DNA ของเซลล์ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ส่งผลให้เชื้อไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนในเซลล์ใหม่ได้ ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Dolutegravir, Bictegravir, Raltegravir เป็นต้น
กลุ่ม Capsid Inhibitor
ยากลุ่มนี้ทำหน้าที่ในการยับยั้งการสร้าง Capsid ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ห่อหุ้มสารพันธุกรรมของไวรัสเอชไอวี ทำให้ไวรัสไม่สามารถจำลองตัวเองได้ ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Lenacapavir
ประสิทธิภาพของยาต้านไวรัส HIV
- ช่วยยับยั้งการเพิ่มของเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยยาต้านไวรัส HIV จะออกฤทธิ์รบกวนกระบวนการเพิ่มจำนวนของไวรัสในเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของเชื้อเอชไอวี การลดจำนวนไวรัสในร่างกาย (viral load) ช่วยให้ระดับไวรัสในเลือดต่ำจนไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีมาตรฐาน (undetectable viral load) ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการรักษา
- ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายแข็งแรงขึ้น เมื่อปริมาณไวรัสเอชไอวีในร่างกายลดลง ทำให้โอกาสที่ไวรัสจะไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4+ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมระบบภูมิคุ้มกันลดลงตามไปด้วย และเมื่อ CD4+ ไม่ถูกทำลายหรือมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคและป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น โรคฉวยโอกาส (opportunistic infections) ได้แก่ วัณโรค, ปอดบวม และโรคติดเชื้อรา เป็นต้น
- ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านไวรัส HIV อย่างต่อเนื่อง จะมีระดับไวรัสในเลือดต่ำจนไม่สามารถตรวจพบได้ (undetectable) จะไม่สามารถแพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ไปสู่ผู้อื่นได้ (แนวคิด “U=U” หรือ Undetectable = Untransmittable) ดังนั้นการลดปริมาณไวรัสเอชไอวีในเลือดและสารคัดหลั่ง เช่น น้ำอสุจิ หรือของเหลวในช่องคลอด ช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อไปสู่คู่รัก คู่นอน หรือในกรณีของหญิงตั้งครรภ์ ก็ลดความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสจากแม่จะแพร่เชื้อสู่ลูก
- ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและยืดอายุให้ยืนยาว การรักษาด้วยยาต้านไวรัสช่วยให้ผู้ติดเชื้อ HIV (ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ) สามารถใช้ชีวิตที่ปกติและมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนคนทั่วไปได้ หากเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วหลังทราบสถานะของตนเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ยาต้านไวรัสเอชไอวีนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อน หรือโรคฉวยโอกาส ทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อสามารถใช้ชีวิตได้อย่างไร้ข้อจำกัดจากโรค และวางแผนอนาคตได้อย่างมั่นใจ การรักษาที่ดีทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีมีอายุขัยใกล้เคียงกับคนทั่วไป ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการพัฒนายาต้านไวรัสในยุคปัจจุบัน
สูตรยาต้านไวรัส HIV สำหรับรักษาที่ใช้ในประเทศไทย
สำหรับแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยในปัจจุบัน ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่ไม่เคยได้รับยาต้านไวรัสมาก่อนจะได้รับยาต้านไวรัสสูตร TLD เป็นยาสูตรแรกในการรักษา โดยสูตรยา TLD นี้จะประกอบด้วยยาทั้งหมด 3 ชนิด คือ Tenofovir Disoproxil Fumarate (TDF), Lamivudine (3TC) และ Dolutegravir (DTG)
ทั้งนี้ การเลือกใช้ยาขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ร่วมกับการพิจารณาปัจจัยด้านอื่น เช่น สุขภาพของผู้ป่วย, ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น
การปฏิบัติตัวขณะใช้ยาต้านไวรัส HIV เพื่อการรักษา
หลังจากที่เข้ารับการตรวจเลือดและทราบสถานะเลือดของตนเองว่าติดเชื้อเอชไอวี แพทย์จะดำเนินการเข้าสู่ขั้นตอนการรักษา โดยจะประเมินสุขภาพทั่วไปและตรวจสอบว่าคนไข้ติดเชื้อเอชไอวีที่ระดับไหน จากนั้นจึงจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างเหมาะสม
คนไข้ควรปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะเรื่องการรับประทานยาให้ตรงต่อเวลาทุกวัน และเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อติดตามผลการรักษาตามแพทย์สั่ง หมั่นดูแลทั้งสุขภาพกายและใจ หลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้ภูมิคุ้นกันอ่อนแอลง
ยาต้านไวรัส HIV สำหรับการรักษาช่วยให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี) สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อนและลดการแพร่กระจายของเชื้อ การรักษาอย่างทันท่วงทีและการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างต่อเนื่องจะทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีและยืนยาวขึ้น ใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติทั่วไป
PSK Clinic คลินิกสุขภาพเพศ พร้อมให้บริการตรวจและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
สอบถามเพิ่มเติมหรือทำนัดพบแพทย์ได้ที่
- Line: @pskclinic
- โทร 095-049-4142