PSK Clinic คลินิกสุขภาพทางเพศ บริการตรวจรักษาและให้คำปรึกษา

Doxy-PEP ยาป้องกันการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลังเสี่ยงที่คุณควรรู้

Doxy-PEP คืออะไร?

Doxy-PEP คือ การใช้ยาปฏิชีวนะ “Doxycycline” เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ทั้งการมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่หรือการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก (Oral Sex) โดยปัจจุบันมีการใช้ Doxy-PEP ในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วย

Doxy-PEP สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไหนได้บ้าง?

จากการศึกษาในประเทศฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกาและเคนย่า พบว่า Doxy-PEP สามารถลดอุบัติการณ์การติดเชื้อหนองในเทียมชนิดคลามัยเดีย และการติดเชื้อซิฟิลิสได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาเลียนแบบ (Placebo) โดยมีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อหนองในเทียมคลามัยเดียและการติดเชื้อซิฟิลิสประมาณร้อยละ 70-90 และมีประสิทธิภาพในการลดติดเชื้อหนองในประมาณร้อยละ 30-60

ใครบ้างที่สามารถใช้ Doxy-PEP ได้?

กลุ่มผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย (MSM) และผู้หญิงข้ามเพศ (Transgender Woman) เนื่องจากมีการศึกษาของต่างประเทศกับประชากรกลุ่มนี้พบว่า การใช้ Doxy-PEP มีประสิทธิภาพอย่างมากในการลดการติดเชื้อหนองในเทียมชนิดคลามัยเดียและซิฟิลิส รวมถึงมีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อหนองใน (*สำหรับประเทศที่พบเชื้อหนองในดื้อยากลุ่ม tetracyclines ระดับต่ำ) แต่ยังไม่พบการศึกษาประสิทธิภาพของการใช้ Doxy-PEP ในกลุ่มผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย จึงไม่แนะนำให้ใช้กับประชากรกลุ่มนี้ และแนะนำให้ใช้เฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น

วิธีการใช้ Doxy-PEP

แนะนำให้ใช้ “ภายใน 72 ชั่วโมง” หลังจากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใช้ถุงยางอนามัย โดยใช้ยา Doxycycline ขนาด 100 มิลลิกรัม กิน 2 เม็ด ต่อครั้ง ไม่เกิน 3 ครั้ง หรือ 6 เม็ดต่อสัปดาห์

ผลข้างเคียงจาก Doxy-PEP อันตรายหรือไม่?

ผลข้างเคียงที่สามารถพบได้จากการใช้ Doxy-PEP ได้แก่ ระคายเคืองหลอดอาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังไวต่อแสง ผิวหนังแสบร้อนแดงหลังจากตากแดด ดังนั้นหากต้องการใช้ Doxy-PEP จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำในวิธีการใช้ที่ถูกต้องและปลอดภัย

Doxy-PEP และ PEP แตกต่างกันอย่างไร?

ความแตกต่างของ Doxy-PEP และ PEP คือ Doxy-PEP เป็นการใช้ยา Doxycycline ในรูปแบบยากินเพื่อป้องกันการติดเชื้อหนองในเทียมชนิดคลามัยเดียและการติดเชื้อซิฟิลิสจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัย ส่วน PEP (Post-Exposure Prophylaxis) หรือยาเป็ป เป็นการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในรูปแบบกินเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังจากได้รับความเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์หรือสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งจากผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี 

ดังนั้นการใช้ Doxy-PEP จึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังได้รับความเสี่ยงได้ ในขณะเดียวกันการใช้ยาเป็ปก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อหนองในเทียมชนิดคลามัยเดียและการติดเชื้อซิฟิลิสจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยได้

อ้างอิง

  1. คำแนะนำการใช้ยาด็อกซีไซคลินเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลังการสัมผัส ฉบับที่ 1 เดือนมิถุนายน 2567, กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศไทย
  2. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/sexually-transmitted-infections-(stis)
  3.  https:// www.aidsmap.com/news/jul-2022/taking-antibiotic-after-sex-cuts-stis-two-thirds-doxypep-study-finds
  4. https://www.thebodypro.com/article/doxypep-stis-prophylactic-doxycycline-msm-hiv-prep
  5. https://www.ucsf.edu/news/2022/05/422911/doxycycline-after-unprotected-sex-significantly-reduced-stis

PSK Clinic คลินิกสุขภาพเพศ พร้อมให้บริการตรวจและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 

สอบถามเพิ่มเติมหรือทำนัดปรึกษาแพทย์ได้ที่