แผลริมแข็ง อาการที่กำลังบอกว่าคุณเป็นโรคซิฟิลิส
เมื่อพูดถึงแผลที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หลายคนอาจนึกถึง แผลเริม, แผลริมอ่อน, ผื่นแพ้สัมผัส, ผื่นคันจากเชื้อรา, แผลริมอ่อน และแผลริมแข็ง เป็นต้น ซึ่งแผลริมแข็ง (Chancre) เป็นอาการหนึ่งของโรคซิฟิลิส ที่เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงหากคุณปล่อยทิ้งไว้ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้อย่างมากหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
โรคซิฟิลิสคืออะไร
ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากแบคทีเรีย Treponema pallidum ซึ่งติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้สวมถุงยางอนามัยป้องกัน การสัมผัสบริเวณแผลที่มีเชื้อ และจากแม่สู่ลูก โรคซิฟิลิสมีระยะของโรคหลายระยะ ซึ่งแต่ละระยะก็มีอาการที่แตกต่างกันออกไป โดยแผลริมแข็งจะเกิดขึ้นในช่วงที่เรียกว่า “ซิฟิลิสระยะที่ 1 (Primary syphilis)” มักจะเกิดบริเวณอวัยวะเพศ, ทวารหนัก หรือปาก โดยจะไม่มีอาการเจ็บปวดบริเวณแผลริมแข็ง และแผลจะหายไปภายใน 3-6 สัปดาห์ แต่อย่าชะล่าใจ นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณหายจากโรคซิฟิลิสเพราะเชื้อแบคทีเรียยังคงอยู่ในร่างกาย และโรคจะดำเนินการเข้าสู่ซิฟิลิสระยะต่อไป
Credit: แผลริมแข็ง โดย Pygmalion https://th.wikipedia.org/wiki/แผลริมแข็ง ลิขสิทธิ์ https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0/
วิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างแผลริมแข็งและแผลอื่น ๆ
แผลริมแข็งที่เกิดจากโรคซิฟิลิสจะมีลักษณะที่ขอบนูนแข็ง กดแล้วไม่เจ็บ ซึ่งแตกต่างจากแผลเริมที่เกิดจากเชื้อไวรัสเริมที่มักจะมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส กดแล้วเจ็บ การสังเกตความแตกต่างระหว่างแผลริมแข็งจากซิฟิลิสและแผลอื่น ๆ อาจเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการตรวจหาเชื้อซิฟิลิสผ่านห้องปฏิบัติการ และการตรวจดูแผลโดยแพทย์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการวินิจฉัยโรคซิฟิลิส
การรักษาและการป้องกันซิฟิลิส
การรักษาโรคซิฟิลิสที่ยังอยู่ในระยะที่ 1 สามารถทำได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาฉีดเบนซาทีนเพนนิซิลิน จี (Benzathine Penicillin G) หรือยากินด็อกซีซัยคลิน (Doxyxcycline) แต่หากปล่อยทิ้งไว้ โรคจะลุกลามไปจนถึงระยะที่ 2, ระยะที่ 3 และระยะแฝง ซึ่งการรักษาจะยากขึ้นและมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน การป้องกันการติดเชื้อซิฟิลิสทำได้ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ และการตรวจสุขภาพเพศอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะเมื่อคุณมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะติดเชื้อ
แผลริมแข็งเป็นอาการหนึ่งของโรคซิฟิลิสที่เกิดในซิฟิลิสระยะที่ 1 หากคุณสันนิษฐานว่าตนเองติดเชื้อซิฟิลิส หรือมีแผลลักษณะที่คล้ายคลึงกับแผลริมแข็ง คุณควรได้รับการตรวจวินิจฉัย และเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างถูกต้อง อีกทั้งการมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องโรคซิฟิลิส และการสวมถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อซิฟิลิส
PSK Clinic คลินิกสุขภาพเพศ พร้อมให้บริการตรวจและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
สอบถามเพิ่มเติมหรือทำนัดปรึกษาแพทย์ได้ที่
- Line: @pskclinic
- โทร 095-049-4142