PSK Clinic คลินิกสุขภาพทางเพศ บริการตรวจรักษาและให้คำปรึกษา

โรคซิฟิลิส ติดต่อง่ายจริงหรือไม่ (Syphillis)

ซิฟิลิส โรคติดต่อที่ไม่ควรมองข้าม

โรคซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ยังคงมีการระบาดอยู่ โดยในปี 2021 มีการรายงานพบผู้ติดเชื้อซิฟิลิสสูงถึง 7.1 ล้านคน จากประชากรทั่วทั้งโลก ซึ่งน่าตกใจที่กลุ่มติดเชื้อหลักมีอายุที่น้อยลง ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่นมีอายุ 15-24 ปี หญิงตั้งครรภ์และกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) ซึ่งแม้ว่าจะป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อซิฟิลิส วิธีการที่ควรปฏิบัติร่วมกันคือ การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ ซึ่งหากพบว่าตนเองติดเชื้อซิฟิลิส ควรรีบรักษาขณะที่ยังอยู่ในระยะต้น ๆ ของโรค ด้วยการรักษาอย่างถูกวิธีและติดตามอาการอย่างต่อเนื่องกับแพทย์ผู้ชำนาญการ เพราะการรู้เร็ว รักษาไว สามารถทำให้เราหายขาดจากโรคซิฟลิสได้

ติดเชื้อซิฟิลิสจากกิจกรรมทางเพศ

โรคซิฟิลิส คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  STD (sexually transmitted disease) ที่เกิดจากเชื้อแบคที่เรียชื่อว่า ทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema pallidum) ส่วนใหญ่มักติดมาจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยได้รับเชื้อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับแผลซิฟิลิส (skin-to-skin) ที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ, ทวารหนัก และปาก ทำให้การใส่ถุงยางอนามัย (condom) ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์นั้นสามารถป้องกันการติดเชื้อซิฟิลิสได้เพราะลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับแผลซิฟิลิส 

แม้ว่ามีผลวิจัยรายงานว่าการใส่ถุงยางอนามัยช่วยลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อซิฟิลิสได้สูงถึง 96% และเป็นแนวทางที่ใช้เพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อซิฟิลิสที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด แต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้ 100% เนื่องจากบางครั้งถุงยางอนามัยอาจไม่ได้ปกปิดบริเวณที่เกิดแผลซิฟิลิสทั้งหมด จึงอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะสัมผัสบริเวณแผลและนำไปสู่การติดเชื้อซิฟิลิสได้ นอกจากนี้หากใช้ถุงยางอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้เกิดการหลุด ฉีกขาด เกิดการสัมผัสและนำไปสู่การติดเชื้อซิฟิลิสได้ในสุด

ดังนั้นการใช้ถุงยางควรเลือกใช้ของที่ผลิตได้มาตรฐาน ไม่ใกล้หมดอายุ และควรเลือกขนาดให้เหมาะสมกับขนาดของอวัยวะเพศของตนเอง ไม่หลวมหรือคับจนเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดฉีกขาด หลุด ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ และก่อนสวมใส่ควรตรวจสอบทุกครั้งว่ามีรอยรั่ว หรือฉีกขาดหรือไม่

โรคซิฟิลิสหลายคนอาจคิดว่าเป็นแค่โรคผิวหนังที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ที่ขึ้นผื่นและทิ้งรอยไว้ให้เกิดความรำคาญไม่น่าดู แต่แท้จริงแล้วซิฟิลิสเป็นโรคที่อันตรายและน่ากลัวมากกว่านั้น โดยเฉพาะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและทันท่วงที โดยระยะของโรคซิฟิลิสแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ซึ่งระยะที่อันตรายที่สุดคือ โรคซิฟิลิสระยะที่ 3 (Tertiary syphilis) เพราะเชื้อซิฟิลิสได้กระจายสู่จุดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบหัวใจ ระบบหลอดเลือด ระบบสมอง หรือระบบประสาท รวมไปถึงกระดูกและข้อ สามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและเกิดภาวะระบบต่าง ๆ ในร่างกายล้มเหลว จนไปถึงการเสียชีวิตได้

การป้องกันการติดเชื้อซิฟิลิสที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ แต่ก็ยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อซิฟิลิสอยู่บ้างเพราะถุงยางอาจไม่ได้ปกปิดครอบคลุมบริเวณที่เกิดแผลซิฟิลิสทั้งหมด หรือถุงยางอาจชำรุด เกิดการฉีดขาดขณะมีเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการทำออรัลเซกส์ (oral sex) แบบที่ไม่สวมใส่ถุงยาง ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อซิฟิลิสได้มากขึ้นเช่นกัน

ดังนั้นการเลือกวิธีป้องกันตัวช่องทางอื่นร่วมกับการใช้ถุงยางเพื่อป้องกันการติดเชื้อซิฟิลิสที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ เช่น 

  • ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุก 3-6 เดือน
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ชวนคู่รักตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก่อนมีเพศสัมพันธ์

หากผลการตรวจคัดกรองออกมาว่าติดเชื้อซิฟิลิส ให้รีบรักษากับแพทย์อย่างถูกวิธี และติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

โรคซิฟิลิส ติดเชื้อได้ง่ายดาย เป็นเรื่องจริงหรือไม่

โรคซิฟิลิสเป็นโรคที่มีอัตราการติดสูงกว่าการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากช่องทางการติดเชื้อซิฟิลิสนั้นสามารถติดได้จากการสัมผัสโดนแผลหรือสารคัดหลั่งที่มีเชื้อจากผู้ที่เป็นโรคซิฟิลิส โดยเชื้อสามารถไชเข้าสู่ร่างกายผ่านร่างกายส่วนที่เป็นเยื่อบุทั่วไปหรือบริเวณที่เป็นแผลได้จากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันหรือการออรัลเซกส์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย นอกจากนี้ในมารดาที่ติดเชื้อซิฟิลิสระหว่างการตั้งครรภ์ก็สามารถแพร่เชื้อซิฟิลิสในเด็กที่อยู่ในครรภ์ผ่านทางรกได้ โดยเด็กที่เกิดมานั้นสามารถมีภาวะการติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิด และมีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อซิฟิลิสทำให้เด็กที่เกิดมามีทุพลภาพและเสียชีวิตได้

PSK Clinic
ปรึกษาแพทย์หรือทำนัด
โทร 095 049 4142
แอดไลน์ @pskclinic