PSK CLINIC

PSK Clinic คลินิกสุขภาพทางเพศ บริการตรวจรักษาและให้คำปรึกษา

บริการตรวจหาโรคซิฟิลิส ให้คำปรึกษาแนวทางการรักษาอย่างถูกวิธี

โรคซิฟิลิส (syphilis) สาเหตุ อาการ แนวทางการรักษาและป้องกัน

โรคซิฟิลิสคืออะไร?

โรคซิฟิลิส (Syphilis) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema pallidum) ที่พบได้ในเลือด, สารคัดหลั่ง, รวมไปถึงน้ำลาย โดยติดต่อผ่านการสัมผัสกับแผลซิฟิลิสโดยตรง ซึ่งมักเกิดที่บริเวณอวัยวะเพศ, ทวารหนักและปาก ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ หลังจากได้รับเชื้อซิฟิลิส เชื้อจะฟักตัวประมาณ 3 สัปดาห์ อาการของโรคซิฟิลิสแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ในระหว่างนี้ผู้ป่วยอาจมีหรือไม่มีอาการก็ได้ ปัจจุบันรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ หากผู้ป่วยปล่อยทิ้งไว้ และไม่เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง จะสามารถทำให้เกิดปัญหารุนแรงด้านสุขภาพตามมาได้ อีกทั้งแม่ที่เป็นโรคซิฟิลิสสามารถแพร่เชื้อสู่ลูกในครรภ์ได้เช่นกัน

ซิฟิลิส ระยะที่ 2 หมอตรวจผู้หญิงมีผื่น PSK Clinic

อาการและระยะของโรคซิฟิลิส

โรคซิฟิลิสมีหลายระยะ ได้แก่ โรคซิฟิลิสระยะที่ 1 (Primary syphilis) โรคซิฟิลิสระยะที่ 2 (Secondary syphilis) โรคซิฟิลิสระยะแฝง (Latent syphilis) และโรคซิฟิลิสระยะที่ 3 (Tertiary syphilis) ซึ่งในแต่ละระยะจะแสดงอาการ และแผลที่ปรากฏแตกต่างกันออกไป 

ซิฟิลิสระยะที่ 1 (Primary syphilis)

ระยะนี้จะเกิดขึ้นประมาณ 21 วัน หลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อซิฟิลิส โดยจะเกิดแผลริมแข็ง (Chancre) ที่มีลักษณะเป็นขอบแข็งนูน ก้นแผลสะอาด กดแล้วไม่เจ็บ เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศทั้งผู้ชายและผู้หญิง, รอบทวารหนัก, หรือปาก ส่วนมากจะปรากฏเพียง 1 แผล และจะหายไปเองภายใน 3-6 สัปดาห์ แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่ได้รับการรักษาก็ตาม จากนั้นจะเข้าสู่โรคซิฟิลิสระยะที่ 2 ต่อไป

ซิฟิลิสระยะที่ 2 (Secondary syphilis)

อาการของซิฟิลิสระยะที่ 2 คือ จะเกิดผื่นลักษณะสีแดงอ่อนบริเวณลำตัว, แขนและขา ร่วมกับมีผื่นวงกลม หรือวงรีสีแดงเข้มบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า (Roseola Syphilitica) นอกจากนี้อาจเกิด ผื่นนูนแฉะ (Condyloma lata) บริเวณรอบอวัยวะเพศ, รอบทวาร, ปาก ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ เหมือนมอดแทะ (Moth-eaten alopecia) ร่วมด้วย อาการอื่น ๆ ที่อาจพบในระยะที่ 2 ได้แก่ มีไข้ต่ำ, ต่อมน้ำเหลืองโตกดแล้วเจ็บ, ปวดศีรษะ, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ,  อ่อนเพลีย, เจ็บคอ หากปล่อยไว้และไม่เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง โรคซิฟิลิสจะดำเนินเข้าสู่ระยะแฝงต่อไป

ซิฟิลิสระยะแฝง (Latent syphilis)

ระยะแฝงนี้เชื้อซิฟิลิสสามารถอยู่ในร่างกายได้นานถึง 20 ปี โดยที่ผู้ป่วยไม่แสดงอาการใด ๆ เลย เช่น การเกิดแผลริมแข็ง, ผื่นสีแดง, ผื่นนูนแฉะ เป็นต้น จึงทำให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจผิด คิดว่าตนเองหายจากโรคซิฟิลิส หรือไม่ได้ติดเชื้อซิฟิลิส และแม้ว่าซิฟิลิสระยะแฝงนี้จะไม่แสดงอาการ แต่ผู้ที่ติดเชื้อยังคงสามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์

ซิฟิลิสระยะที่ 3 (Tertiary syphilis)

ซิฟิลิสระยะที่ 3 เป็นระยะที่อันตรายมาก เนื่องจากเชื้อซิฟิลิสที่กระจายอยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน เริ่มลุกลามเข้าสู่ระบบต่าง ๆ ที่สำคัญในร่างกาย เช่น ระบบหัวใจ, ระบบหลอดเลือด, ระบบสมอง, ระบบประสาท รวมไปถึงกระดูกและข้อ ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจโป่งพอง (Aortic aneurysm), ภาวะลิ้นหัวใจรั่ว (Aortic regugitation) เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถก่อให้เกิดภาวะระบบต่าง ๆ ล้มเหลวจนทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคซิฟิลิสติดต่ออย่างไร?

โรคซิฟิลิสติดต่อผ่าน การสัมผัสโดนแผลซิฟิลิสโดยตรง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการทำออรัลเซ็กส์ (Oral sex) นอกจากนี้โรคซิฟิลิสยังแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้ ทำให้เกิดโรคซิฟิลิสในเด็กแรกเกิด (Congenital syphilis) ซึ่งมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและอันตรายถึงชีวิต หรือก่อให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายของเด็ก ผู้ที่ได้รับเลือดจากผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิส ก็สามารถติดเชื้อซิฟิลิสได้เช่นกัน

โรคซิฟิลิสแต่กำเนิด (Congenital syphilis)

โรคซิฟิลิสแต่กำเนิดเกิดจากแม่ที่ติดเชื้อซิฟิลิสขณะตั้งครรภ์ ทำให้เกิดการแพร่เชื้อสู่ลูกผ่านทางรก เมื่อทารกคลอดออกมาจะมีอาการแสดงที่แตกต่างกันออกไป โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ 

  1. ระยะ Early-onset manifestation พบได้หลังจากคลอด 5 สัปดาห์ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ตัวซีด มีผื่น มีตุ่มน้ำใสวาวบริเวณฝ่ามือและเท้า เป็นต้น
  2. ระยะ Late-onset manifestation จะแสดงอาการหลังจากคลอด 2 ปี อาการที่พบบ่อย ได้แก่ หูหนวก ตาบอด ฟันมีลักษณะผิดปกติ จมูกมีลักษณะผิดปกติ (Syphilis nose) มีความผิดปกติของกระดูก เป็นต้น

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการแพร่เชื้อซิฟิลิส

โรคซิฟิลิสไม่สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสวัสดุหรืออุปกรณ์ที่ผู้ติดเชื้อซิฟิลิสใช้งาน เช่น อ่างอาบน้ำ ห้องน้ำ ลูกบิดประตู สระว่ายน้ำ การใช้เสื้อผ้า รวมถึงการรับประทานอาหารจากภาชนะเดียวกัน เป็นต้น

ตรวจเลือด หาเชื้อซิฟิลิส พีเอสเค คลินิก

การตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิส

การตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสทำได้โดยการตรวจเลือด (Blood test) เพื่อตรวจหาแอนติบอดี้ (Antibody) ต่อเชื้อซิฟิลิสที่อยู่ในร่างกาย ปัจจุบันนิยมใช้วิธีการตรวจแบบย้อนทาง (Reverse algorithm) ซึ่งมีความแม่นยำและรวดเร็ว นอกจากนี้ยังสามารถตรวจคัดกรองผู้ที่มีการติดเชื้อซิฟลิสมานาน เช่น ผู้ป่วยซิฟิลิสระยะแฝง เป็นต้น โดยแบ่งการตรวจออกเป็น 2 ชนิด

1. การตรวจคัดกรองการติดเชื้อซิฟิลิสในผู้ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

 ใช้การตรวจ Anti-TP เพื่อตรวจยืนยันการติดเชื้อซิฟิลิสว่ามีการติดเชื้อหรือไม่

  • หากผล Anti-TP แสดงผลลบ สามารถยืนยันได้ว่าไม่มีการติดเชื้อซิฟิลิส
  • หากผล Anti-TP แสดงผลบวก จะต้องทำการตรวจยืนยันอีกครั้งด้วยวิธี RPR เพื่อยืนยันว่ามีการติดเชื้อซิฟิลิสจริง
  • หากผล Anti-TP แสดงผลบวกและผล RPR แสดงผลลบ จะต้องตรวจยืนยันด้วยวิธี TPPA หรือ TPHA เพื่อตรวจยืนยันการติดเชื้อซิฟิลิสในบุคคลนั้น โดยยึดเอาตามผลของการตรวจ TPPA หรือ TPHA ในการตรวจคัดกรองการติดเชื้อซิฟิลิส

2. การตรวจคัดกรองในผู้ที่เคยเป็นโรคซิฟิลิส

ใช้การตรวจแบบ RPR (Rapid Plasma Reagin) เพื่อยืนยันการติดเชื้อซิฟิลิส เนื่องจากผู้ที่เคยติดเชื้อซิฟิลิสมาก่อน ผล Anti-TP, TPPA และ TPHA จะแสดงผลบวกไปตลอดชีวิต ถึงแม้ว่าจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมจนหายแล้วก็ตาม

3. การตรวจคัดกรองซิฟิลิสด้วยวิธีการตรวจน้ำไขสันหลัง

หากผู้ป่วยอยู่ในขั้นซิฟิลิสระยะที่ 3 ที่เชื้อซิฟิลิสได้ลุกลามสู่ระบบต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงระบบประสาท ผู้ป่วยอาจถูกพิจารณาให้ตรวจคัดกรองด้วยวิธีการเจาะน้ำไขสันหลัง เพื่อนำน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal fulid) ไปตรวจหาเชื้อซิฟิลิสและความผิดปกติต่อไป

รักษาซิฟิลิสด้วยการฉีดยา

การรักษาโรคซิฟิลิส

วิธีกการรักษาโรคซิฟิลิสจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค ซึ่งใช้การฉีดยาปฏิชีวนะเพนิซิลิน (Penicillin

  • ผู้ป่วยโรคซิฟิลิสระยะที่ 1, 2 และระยะแฝงช่วงต้น (Early latent syphilis) แนะนำให้ ฉีดยาเบนซาทีน เบนซิลเพนิซิลลินจี (Benzathine penicillin G) 2.4 ล้านยูนิตต่อ 1 ครั้ง แบ่งฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพกข้างละ 1.2 ยูนิต
  • ผู้ป่วยโรคซิฟิลิสระยะแฝงช่วงปลาย (Late latent syphilis) หรือผู้ป่วยซิฟิลิสที่ไม่ทราบระยะเวลาในการติด (Unknown duration of syphilis)  ฉีดยาเบนซาทีน เบนซิลเพนิซิลลินจี (Benzathine penicillin G) 2.4 ล้านยูนิต ติดต่อกัน 3 ครั้ง ครั้งละ 1 สัปดาห์​ แบ่งฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพก ข้างละ 1.2 ล้านยูนิต

ยารักษาโรคซิฟิลิสชนิดทาน

หากผู้ป่วยบางรายแพ้ยาเพนิซิลิน แพทย์จะแนะนำให้ทานยา โดยระยะเวลาของการทานยาขึ้นอยู่กับระยะของการดำเนินโรคเช่นกัน

  • ผู้ป่วยโรคซิฟิลิสระยะที่ 1, 2 และระยะแฝง ทานยา Doxycycline 100 mg หลังอาหาร 2 ครั้งต่อวัน ติดต่อกัน 14 วัน
  • ผู้ป่วยโรคซิฟิลิสระยะที่ 3 ทานยา Doxycycline 100 mg หลังอาหาร 2 ครั้งต่อวัน ติดต่อกัน 28 วัน

ผลข้างเคียงหลังฉีดยารักษาโรคซิฟิลิส

ผู้ป่วยอาจมีไข้, รู้สึกหนาว, มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย บางรายมีผื่นร่วมด้วย อาการข้างเคียงเหล่านี้เกิดจากปฏิกิริยา จาริช-เฮิร์กไซเมอร์ (Jarisch-Herxheimer Reaction) คือ ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำปฏิกริยากับเชื้อซิฟิลิสที่ตายไปแล้ว และอาการจะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยสามารถกินยาลดไข้ เพื่อบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ แต่หากอาการยังไม่ทุเลาลง ให้รีบพบแพทย์เนื่องจากอาจสงสัยได้ว่าเกิดการแพ้ยาเพนิซิลิน

โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?

โรคซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถรักษาหายขาดได้ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้เช่นกัน ปัจจุบันการรักษาหลักยังคงเป็นการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยรักษาด้วยยาฉีดหรือยากิน ดังนั้นหากผู้ป่วยสังเกตตัวเองว่ามีอาการเข้าข่ายโรคซิฟิลิส ควรเข้ารับการตรวจคัดกรอกงและรักษาอย่างถูกต้องโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ เท่านี้ผู้ป่วยก็สามารถหายจากโรคได้ แต่หากผู้ป่วยที่หายจากโรคแล้ว กลับไปสัมผัสกับเชื้อซิฟิลิสอีกครั้ง ก็สามารถกลับมาเป็นโรคซิฟิลิสได้อีกเช่นกัน

สวมถุงยางป้องกันโรคซิฟิลิส

วิธีป้องกันตัวจากการติดเชื้อซิฟิลิส

โรคซิฟิลิสติดต่อผ่านการสัมผัสกับแผลโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นทางปาก, อวัยวะเพศและทวารหนัก บ่อยครั้งจึงพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อซิฟิลิสมาจากการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด ได้แก่

  • ใส่ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • หากคู่นอนมีแผลซิฟิลิสบริเวณปาก, อวัยวะเพศ, หรือทวารหนัก ให้งดการมีเพศสัมพันธ์
  • งดการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคซิฟิลิสจนกว่าผู้ป่วยจะหาย
  • ควรตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

เราควรตรวจคัดกรองการติดเชื้อซิฟิลิสบ่อยแค่ไหน?

ถ้าคุณยังมีเพศสัมพันธ์อยู่เป็นประจำ เราแนะนำให้ตรวจคัดกรองการติดเชื้อซิฟิลิสทุก 3-6 เดือน หรือตรวจคัดกรองการติดเชื้อซิฟิลิสในกรณีที่คุณสงสัยว่ามีการติดเชื้อซิฟิลิสแล้ว เช่น มีแผลคล้ายโรคซิฟิลิสระยะที่ 1 หรือมีผื่นคล้ายโรคซิฟิลิสระยะที่ 2

โรคซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเราสามารถติดเชื้อได้ง่าย เพียงแค่สัมผัสโดนบริเวณแผลซิฟิลิส ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดที่บริเวณอวัยวะเพศ, ทวารหนักและปาก ทำให้ผู้ป่วยโรคซิฟิลิสส่วนมากติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก ดังนั้นควรป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และตรวจคัดกรองเชื้อซิฟิลิสเป็นประจำ หากต้องการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองหาเชื้อซิฟิลิส เรา PSK Clinic ผู้ชำนาญการด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมให้คำปรึกษาและรักษา โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชำนาญการ เพื่อสุขอนามัยทางเพศที่ดีของทุกคน

อ้างอิง

คู่มือการตรวจวินิจฉัยและติดตามการรักษาโรคซิฟิลิสทางห้องปฏิบัติการ กลุ่มบางรักโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1126820210330151117.pdf

โรคซิฟิลิส กรมควบคุมโรค

https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=94 

โรคซิฟิลิส มหาวิทยาลัยมหิดล

https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=883 

โรคซิฟิลิส โรงพยาบาลศิริราช

https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/syphilis